พื้นที่โฆษณา

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด –19วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน 2564 พบผู้ติดเชื้อรวม 16,031 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังฯ 12,436 ราย ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 2,955 ราย ผู้ป่วยภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 631 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 9 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,309,687 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) หายป่วยกลับบ้าน 15,417 ราย หายป่วยสะสม 1,154,355 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) ผู้ป่วยกำลังรักษา 143,038 รายเสียชีวิต 220 ราย

พื้นที่โฆษณา

ส่วนสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลกเมื่อวานนี้ วันพุธที่ 8 กันยายน 2564 เวลา 10.00 น.พบยอดผู้ติดเชื้อรวม 222,737,866 ราย  มีอาการรุนแรง 104,636 ราย แพทย์รักษาหายแล้ว 199,246,415 ราย เสียชีวิต 4,599,534 ราย  อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด  1. สหรัฐอเมริกา  จำนวน 41,206,672 ราย 2. อินเดีย  จำนวน 33,095,450 ราย 3. บราซิล จำนวน 20,913,578 ราย 4. สหราชอาณาจักร จำนวน 7,056,106 ราย 5. รัสเซีย จำนวน 7,047,880 ราย สำหรับประเทศไทย  อยู่ในอันดับที่ 29 จำนวน 1,322,519 ราย

พื้นที่โฆษณา

รายงานการฉีดวัคซีนหยุดเชื้อเพื่อชาติในประเทศไทยขณะนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19 รายงานว่ามี ภาพรวมยอดฉีดวัคซีน วันที่ 7 กันยายน 2564 ยอดฉีดทั่วประเทศรวม 37,461,284 โดส ใน 77 จังหวัด ฉีดเมื่อวานนี้ จำนวน 826,013 โดส  ฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 399,650 รายฉีดเข็มที่ 2 จำนวน 424,676 ราย ฉีดเข็มที่ 3 จำนวน  1,687 ราย จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม จำนวน 25,954,106 ราย(จำนวนผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมด)จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม จำนวน  10,900,001 ราย(จำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์)จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม จำนวน 607,177

พื้นที่โฆษณา

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าได้มีการอนุมัติให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปลี่ยนแปลงรายละเอียด โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ใน 9 กิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในการควบคุมสูงสุด 29 จังหวัด  โดยได้ขยายกรอบวงเงิน เป็น 17,912.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอีก 862.2 ล้านบาท เนื่องจากมีนายจ้างจำนวน 226,394 ราย เพิ่มขึ้น 18,900 รายและผู้ประกันตน ม. 33 จำนวน 3,877,936 ราย เพิ่มขึ้น 400,375 ราย ซึ่งเป็นผลจากการขยายเวลาให้นายจ้างในพื้นที่ 3 จังหวัดและ 16 จังหวัด สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ได้ภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 โดยขยายระยะเวลาในการเบิกจ่ายและดำเนินโครงการฯ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม นี้

พื้นที่โฆษณา

นอกจากนั้นยังอนุมัติเงิน 16,103.3 ล้านบาท ช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตน ม.33 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด เพิ่มเติม 1 เดือน (สิงหาคม)  เพื่อช่วยเหลือนายจ้างจำนวน 194,660 ราย โดยจ่ายให้ 3,000 บาท ต่อจำนวนลูกจ้างไม่เกิน 200 คน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 7,257 ล้านบาท และช่วยเหลือผู้ประกันตนตาม ม. 33 สัญชาติไทยจำนวน 3,538,530 คน โดยจะจ่ายให้ 2,500 บาท/คน/เดือน เป็นจำนวนเงิน 8,846.3 ล้านบาท โดยจะเริ่มโอนเงินเยียวยาภายในเดือนกันยายน 2564 นี้ การอนุมัติวงเงินเพิ่มเติมจำนวน 16,965.5 ล้านบาท เดิมที่อนุมัติไปแล้ว จำนวน 17,050.4 ล้านบาท ทำให้โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 ใน 9 รวมถึงกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด  จะมีกรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 34,015.9 ล้านบาท

พื้นที่โฆษณา

มีรายงานจากกระทรวงแรงงานแจ้งว่า จากการตรวจสอบพบนายจ้างหลายรายที่ออกข้อกำหนดลงโทษลูกจ้างที่ติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 โดยการหักค่าจ้าง ลดค่าจ้าง หรือลดสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ไม่จ่ายโบนัสหรือเงินอื่น ๆ จากกรณีดังกล่าว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ดูแลให้เกิดความเป็นธรรมแก่ลูกจ้าง โดยได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้ทำความเข้าใจกับนายจ้างให้ทราบว่า ไม่สามารถลงโทษลูกจ้างที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธีการหักหรือลดค่าจ้าง ลดสวัสดิการต่าง ๆ ของลูกจ้างได้ เนื่องจากการกรณีนี้ไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 76 แห่งพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หากนายจ้างหักค่าจ้างหรือลดค่าจ้างโดยลูกจ้างไม่ยินยอม ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 70 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 144 วรรคหนึ่ง คือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้สอบสวนและมีคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้อง

พื้นที่โฆษณา

ส่วนกรณีนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบกิจการ ได้จัดสวัสดิการนอกเหนือจากที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนด เช่น โบนัส ฯลฯ ซึ่งการได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ย่อมต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่นายจ้างกำหนด หรือนายจ้างและลูกจ้างตกลงกันแล้วแต่กรณี หากนายจ้างไม่ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับสวัสดิการดังกล่าว โดยอ้างเหตุที่ลูกจ้างป่วยเพราะติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติมในภายหลังย่อมไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างเช่นเดียวกัน หากนายจ้างปรับหรือลดสวัสดิการ โดยไม่ชอบหรือนอกเหนือจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมและเป็นการกระทบต่อสิทธิของลูกจ้าง ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลแรงงานได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522

ราย#ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19 #ศูนย์ข้อมูลCOVID19 #ฉีดวัคซีนหยุดเชื้อเพื่อชาติ 

สำนักข่าว MC.news.com รายงาน