ที่รัฐสภา (เกียกกาย) กรุงเทพมหานคร นายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นายก อบต.นายกเทศบาลพร้อมด้วย กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน จากอำเภอครบุรี อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอปักธงชัย  และจากอำเภอนาดี จังหวัดปราจีณบุรี จำนวนกว่า 50 คน ได้เข้ายื่นหนังสือถึงความเดือดร้อนและขอความเป็นธรรมให้กับประชาชนในพื้น เกี่ยวกับปัญหาที่ดินทำกิน โดยยื่นเรื่องกับ นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ รอ.ดร.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอให้แก้ปัญหาพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ของป่าสงวนแห่งชาติภูหลวง และพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ได้ประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ทับซ้อนกับที่อยู่อาศัยของและที่ทำกินของชาวบ้าน อันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของทางราชการแบบขอไปที ของนายผ่อง เล่งอี้ ผอ.กรมอุทยานแห่งชาติในสมัยนั้น จากนั้นก็ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขตามที่เคยรับปากกับชาวบ้านไว้ ซ้ำร้ายยังนำกำลังเข้าทำการจับกุมชาวบ้าน ในข้อหารุกป่าเป็นคดีความอยู่ในศาลกว่า 351 คดี ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนมาถึงวันนี้กว่า 40 ปี

นายชุณห์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ยื่นหนังสือขอให้ทางจังหวัดนครราชสีมา ได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา โดยขอให้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้สำรวจแนวเขตแบ่งปันให้ชัดเจน เพราะเขตอุทยานแห่งชาติที่เจ้าหน้าที่อ้างนั้นเป็นการอ้างเพียงลอยๆ แถมยังขัดแย้งกับการปฏิบัติงานของสำนักงานปฏิรูปที่ดิน(สปก.)อีกด้วย เพราะข้อเท็จจริงแล้วมีหน่วยงานราชการ เทศบาล หมู่บ้าน ชุมชน แล ะมีชาวบ้านอาศัยอยู่ก่อนการประกาศเขตเมื่อ ปี 2524 จึงขอให้รัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้พิจารณาแนวเขตให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2540-2543 ซึ่งเป็นมติที่คณะกรมการจังหวัดนครราชสีมา และ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ลงมาตรวจสอบแล้ว และ หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2558 ยังมีคณะกรรมการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร ออกมาตรวจสอบและมีมติร่วมกันในการแก้ไขปัญหาอีกด้วย

“ประโยชน์ของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ การจัดการที่ดินต้องมีแนวเขตชัดเจนและต้องเป็นธรรม แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจนทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนทุกวันนี้ เป็นเพราะอุทยานไปขีดเส้นเอาเองตามใจชอบจนไปทับพื้นที่ ที่มีประชาชนอาศัยอยู่ก่อน”นายชุณห์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังการยื่นเรื่องกับ นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการประทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยยื่นเรื่องกับ รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ แล้วทั้งสองท่านต่างให้ความสนใจกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก พร้อมทั้งรับปากว่าจะดำเนินแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้เป็นรูปธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้กับเกษตรกรและชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนที่เกิดขึ้น รวมทั้งจะมีการพิจารณาแก้ไขให้เกิดความชอบธรรม โดยอาจให้สำนักงานปฏิรูปที่ดิน (สปก.)ที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าไปแก้ไข ตามกฎหมายของ สปก.ต่อไป

ภาพ/ข่าว ทีมข่าว MC.news