นายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน 5 ตำบล 83หมู่บ้าน ประกอบไปด้วยตำบลวังน้ำเขียว,ตำบลไทยสามัคคี ตำบลอุดมทรัพย์ ตำบลวังหมี ตำบลระเริง และอำเภอปักธงชัย จำนวนกว่า 30 คน ได้เข้ายื่นหนังสือถึงความเดือดร้อนและขอความเป็นธรรมให้กับประชาชนในพื้น เกี่ยวปัญหาที่ดินทำกินต่อ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ปัญหาที่เกิดขึ้นได้แก่พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูหลวงและพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ได้ถูกประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ แต่ปรากฏว่าได้เกิดทับซ้อนกับที่อยู่อาศัยของและที่ทำกินของชาวบ้าน อันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของทางราชการทุกทุกภาคส่วน และมิได้ดำเนินการแก้ไขให้สอดคล้องตามสัญญาและความเป็นจริง จึงเกิดปัญหาระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับชาวบ้าน ที่ต่างอ้างสิทธิการครอบครองที่ดินที่ถูกต้อง จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วนเพื่อความเป็นธรรมให้กับพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนด้วย

นายชุณห์ กล่าวว่า กรณีของอุทยานแห่งทับลานเกิดขึ้นจากการประกาศแนวเขตอุทยานตามพระราชกฤษฏีกา ปี 2524 เจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานและกรมป่าไม้ โดยนายผ่อง เล่งอี้ ผอ.อุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ในสมัยนั้น ได้ประกาศเสนอแนวเขตทับที่ทำกินของชาวบ้านทั้ง 15 ตำบล 72 หมู่บ้าน ในเขตวังน้ำเขียว-ครบุรี-ปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา และปราจีนบุรี การประกาศดังกล่าวได้รับการคัดค้นจาก นายจงกล สระเจริญ ผู้ใหญ่บ้านไทยสามัคคี พร้อมทั้งชาวบ้านในเขตที่เกี่ยวข้อง แต่ปรากฏว่านายผ่อง ได้ขอเจรจาประนีประนอมว่า ขอให้ทางราชการได้ประกาศเขตไปก่อน แล้วจะแก้ไขทีหลัง ประชาชนที่เจอปัญหาหลงเชื่อจึงได้ยินยอม มาถึงวันนี้ปัญหาต่างๆก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข และคู่กรณีที่ทำข้อตกลงกันคือนายผ่อง เล่งอี้ และ นายจงกล สระเจริญต่างก็ยังมีชีวิตอยู่ในขณะนี้ โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านไม่เคยทราบว่าจุดใดเป็นหลักเขตอุทยานที่ชัดเจน ทำให้เจ้าหน้าที่ของอุทยานเข้าจับกุมชาวบ้านในข้อหาบุกรุก เป็นจำนวนมาก 351 คดี และยังมีการจับกุมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างไม่หยุดหย่อน สร้างความเดือนร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกรที่ทำมาหากินอยู่ในพื้นที่เป็นอย่างมาก

“การยื่นหนังสือในวันนี้ได้ขอให้ทางจังหวัดนครราชสีมาพร้อมทั้งนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา โดยขอให้ทางรัฐบาลได้มีการสำรวจแนวเขตให้ชัดเจน เพราะเขตอุทยานแห่งชาติที่เจ้าหน้าที่อ้างนั้น ยังขัดกับที่ดินของสำนักงานปฏิรูปที่ดิน หน่วยงานราชการ เทศบาล หมู่บ้าน ชุมชน ที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่ก่อนการประกาศเขตเมื่อ ปี 2524 และให้นำแนวเขตนี้มาพิจารณาแก้ไขเพื่อไม่ให้ราษฎรได้ถูกจับกุมอีก สุดท้ายขอให้รัฐบาลได้พิจารณาแนวเขตให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2540-2543 ซึ่งเป็นมติที่คณะกรมการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ลงมาตรวจสอบแล้ว และหลังจากนั้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2558 คณะกรรมการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา คณะกรรมการกฎหมายการยุติธรรมและสอทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยังมีความเห็นสอดคล้องในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนดังกล่าวอีกด้วย” นายชุณห์กล่าว

ภาพ/ข่าว ทีมข่าว MC.news