โดยที่คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับการวางแผน การส่งเสริมและการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ในการนี้ คณะกรรมาธิการจึงกำหนดกรอบการดำเนินงานไว้ ๔ ประเด็น ได้แก่ ๑) สร้างความเข้าใจ และสร้างความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ให้กับประชาชนได้รับรู้ ๒) สร้างรายได้ให้กับประชาชนฐานราก ๓) สร้างเศรษฐกิจของประเทศ และ ๔) สร้างคนและสร้างประโยชน์สาธารณะ

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมาธิการบรรลุผลตามกรอบการดำเนินงานที่ตั้งไว้ คณะกรรมาธิการจะต้องเป็นกลไกกลางในการบูรณาการการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม มาใช้ประโยชน์ทั้งในระดับฐานรากและประเทศ ระหว่างประชาชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ คณะกรรมาธิการจึงได้เดินทางไปศึกษาดูงาน เพื่อนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ไปพัฒนาอาชีพ และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรฐานราก ณ จังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ จังหวัดสกลนคร จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดกระบี่

เมื่อวันนี้  10 กค.63 นายอัครวัฒน์ อัศวเหม ประธานคณะกรรมาธิการ ศ.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ 1 นายเกษม ศุภรานนท์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ 4 นางสาวสกุณา สาระนันท์ กรรมาธิการ (สส.จังหวัดสกลนคร-โครงการสกลนครโมเดล) นางสาวพิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล  สส. บัญชีรายชื่อ (โครงการกระบี่โมเดล) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการและองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท) สำนักงานคณะกรรมาการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว) สถาบันวิจัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว) กรมวิทยาศาสตร์บริการ และสถาบันอาหาร ได้ร่วมเดินทางมาที่ จ.นครราชสีมา เพื่อศึกษาดูงานเกี่ยวกับโครงการพัฒนาอาชีพให้แก่เกษตรกรฐานราก อาทิ กระบวนการปลูกและการแปรรูปผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง การผลิตข้าวที่มีลักษณะเฉพาะ การเลี้ยงโคเนื้อ “โคราชวากิว” สินค้าวัฒนธรรม (ผ้าไหมนครชัยบุรินทร์) เพื่อหาแนวทางพัฒนาอาชีพให้แก่เกษตรกรต่อไป

โครงการดังกล่าวมีหลักการสำคัญคือ ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่งเสริมสนับสนุนการทำงานระหว่างจังหวัด โดยคณะกรรมาธิการจะทำหน้าที่เป็นกลไกกลางในการสื่อสารและบูรณาการการทำงานให้ทั้งสามภาคส่วน ประกอบด้วย เกษตรกรผู้ต้องใช้องค์ความรู้ในการพัฒนาอาชีพ สถาบันการศึกษาผู้วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆและหน่วยงานภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบายและให้การสนับสนุนงบประมาณ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรฐานราก ยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป

ทีมข่าว MC.news.com รายงาน