วันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2563 เวลา 10.00 น. ที่สำนักการช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา ต.มะเริง อ.เมือง จ.นครราชสีมา  ร.ต.หญิง ระนองรักษ์  สุวรรณฉวี นายก อบจ.นครราชสีมา ได้เปิดศูนย์ป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้ง องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ปี 2563  โดยมีนาย วิสูตร  เจริญสันธ์ รองนายก อบจ.นครราชสีมา  นาย นพล วงษ์ประเสริฐ  ที่ปรึกษานายก อบจ.นครราชสีมา  นาย ธีระชัย  เทพนอก ผู้อำนวยการสำนักการช่าง อบจ.นครราชสีมา  พร้อมคณะผู้บริหาร สมาชิกสภา อบจ.นครราชสีมา หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นเกียรติในพิธีร่วมกันปล่อยขบวนเครื่องจักรเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย 

ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ฯ นายก อบจ.นครราชสีมา กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งพื้นที่ จ.นครราชสีมา ขณะนี้ค่อนข้างวิกฤต มีแนวโน้มยาวนานและรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งจากปัญหาดังกล่าว อบจ.จึงได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้ง อบจ.นครราชสีมา ณ สำนักการช่างฯ เพื่อจัดเตรียมสรรพกำลังคน ในการสำรวจพื้นที่ประสบภัย จัดหาวัสดุอุปกรณ์ รถยนต์บรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ เครื่องขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้งให้พร้อม ให้เพียงพอในการปฏิบัติงานได้ทันท่วงทีเมื่อได้รับการขอมาจากผู้ประสบภัย ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ถูกต้องตามระเบียบ หลักเกณฑ์ข้อกำหนด ทั้งการช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน จนถึงระยะยาวเพื่อให้เกิดความมั่นใจของประชาชนที่ประสบภัย

นอกจากนี้ อบจ.ยังได้ประสานกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันต่อสถานการณ์ รวมถึง ตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถด้วยความเต็มใจ และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานประจำอำเภอทุกอำเภอ ลงพื้นที่ตรวจ ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยแล้วทั้ง 32 อำเภอในเขตพื้นที่ จ.นครราชสีมา 

อย่างไรก็ตาม อบจ.ได้กำหนดแนวทางช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งในระยะเร่งด่วนไว้เบื้องต้น โดยการจัดหาน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภค – บริโภค, จัดรถบรรทุกน้ำ เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ขาดแคลนน้ำได้แก่ การสำรองน้ำจากแหล่งน้ำต่าง ๆ โดยการสูบน้ำเพื่อกักเก็บ เพื่อการอุปโภค บริโภค  โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ในห้วงเวลาดังกล่าวจะมีการสำรวจบ่อน้ำบาดาลเก่า ที่เลิกใช้งานแล้วมาดำเนินการเป่าล้างเพื่อฟื้นฟูสภาพให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นโดยใช้เครื่องจักรกลของ อบจ. การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทุกภาคส่วนและจิตอาสาในพื้นที่  ดำเนินการสำรองน้ำอุปโภค บริโภค  โดยการจัดหาภาชนะสำรองน้ำประจำครัวเรือน เช่น ตุ่ม โอ่ง ถังเก็บน้ำ  เพื่อสำรองน้ำให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงาน องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา  ประจำอำเภอ ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด เพื่อบูรณาการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะเรื่องน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค   ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้น ได้วางแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ ได้แก่ โครงการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล โครงการขุดลอกแหล่งน้ำ ให้ครอบคลุมทุกตำบล หมู่บ้าน ซึ่งหากหมู่บ้านใดขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค สามารถใช้น้ำจาก แหล่งน้ำของหมู่บ้านข้างเคียง เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้อย่างยั่งยืน

ทีมข่าว Mahachon.news.com รายงาน