วันที่ 16 ธันวาคม 2562 ที่ห้องรอยัลจูบิลี่ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นายนิพนธ์  บุญญามณี  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2)  เข้าร่วมงานเปิดโครงการเสริมสร้างการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมเป็นประธาน พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงมอบนโยบายการสร้างความปลอดภัยทางถนน โดยเน้นย้ำ ให้ใช้กลไกในระดับพื้นที่ลดปัจจัยเสี่ยง อุบัติเหตุทางถนนครอบคลุมทุกมิติ ทั้งคน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในสังคมไทย เพื่อสร้างการสัญจรปลอดภัยในทุกเส้นทาง

นายนิพนธ์ กล่าวว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนน พบว่ากลุ่มผู้เสียชีวิตเกิดอุบัติเหตุในเส้นทางตำบลและหมู่บ้าน จึงจำเป็นต้องใช้กลไกในระดับพื้นที่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุให้ตรงจุด ภายใต้โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพการป้องกันอุบัติเหตุ ซึ่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พ.ศ. 2554 ได้กำหนดโครงสร้างการสร้างความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่ ผ่านกลไกของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยจังหวัด และศูนย์อำนวยการปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ ในการขยายผลนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการ และแผนงานด้านความปลอดภัยทางถนนไปสู่การปฏิบัติในบริบทของแต่ละพื้นที่ รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนร่วมคิด ร่วมวางแผน และร่วมลงมือ ในการป้องกันและลดอุบัติทางถนนอย่างเข้มข้น

“ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ตามเส้นทางต่างๆ ของประเทศไทย  พบว่า ถนนทั้งประเทศ มีระยะทางประมาณ 452,238 กิโลเมตร เป็นถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบ ของกรมทางหลวง ประมาณ 51,813 กิโลเมตร  กรมทางหลวงชนบท 47,960 กิโลเมตร  และถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ทุกระดับ ประมาณ  352,465 กิโลเมตร โดยจากการสำรวจข้อมูลอุบัติเหตุของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีพบว่า อุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่เกิดบนถนนของ อปท.สูงถึงร้อยละ 82 ของการเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด และมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนบน ถนนของ อปท.ถึงร้อยละ 85 ของผู้เสียชีวิตจาก อุบัติเหตุทางถนนทั้งหมด จึงต้องมีแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับท้องถิ่นให้มีหน้าที่โดยตรง จำนวน 3 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)องค์การบริหารส่วนจังหวัด ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2562)  พ.ร.บ.เทศบาล ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2562) และพ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2562) มาตรา 19 กำหนดให้องค์การบริหารส่วนตำบล/เทศบาล รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย การดูแลการจราจร และส่งเสริม สนับสนุน หน่วยงานอื่นในการปฏิบัติหน้าที่”นายนิพนธ์กล่าว

นายนิพนธ์กล่าวต่อว่า ท้องที่และท้องถิ่นจะต้องดำเนินการควบคู่กันไปอย่างเป็นระบบ  ศปถ.อำเภอ ต้องมีบทบาทในการดูแลความปลอดภัยบนท้องถนนมากขึ้น แต่ละอำเภอต้องรับผิดชอบแต่ละท้องถิ่น มีการ ปิดจุดเสี่ยงด้านกายภาพบนท้องถนน เช่น หลุมถนน ไฟส่องสว่าง การปรับปรุง ภูมิทัศน์บริเวณสองข้างทาง ที่บดบังทัศนวิสัยให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย ท้องถิ่นต้องให้ความสำคัญกับการดูแลเรื่องวิศวกรรม จราจรและความปลอดภัยของถนนในพื้นที่มากขึ้น หน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่มีการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์เรื่อง ความปลอดภัยทางถนนที่หลากหลายรูปแบบ ผ่านทุกช่องทาง อย่างเข้มข้น จริงจัง ต่อเนื่อง ติดป้ายรณรงค์สร้างจิตสำนึก ในบริเวณที่เห็นชัดเจนให้ครอบคลุมทุกตำบล ทั้งนี้ การพัฒนาความปลอดภัยทางถนนไปสู่ความยั่งยืนต้องอาศัย ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยหวังให้พื้นที่ในระดับตำบล สามารถลดผู้เสียชีวิตลงได้อย่างน้อย 1 ราย จะมีผลทำให้ภาพรวมของประเทศ มีสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงได้อย่างเป็นรูปธรรม

Cr:Thinakorn