วันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายชวลิต ธูปตาก้อง ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน นายทิฆัมพร ยะลา ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบหน้าที่ของรัฐ และคณะ เดินหน้าลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ตามติดปฏิทินการดำเนินโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ในปีงบประมาณ 2563 ก่อนส่งเด็กถึงฝั่งฝันผันตัวเข้าสู่ตลาดแรงงาน คาดเมษา 63 ตอบโจทย์ทุกชีวิตต้องดีและมีงานทำ

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งติดตามขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพฯ แก่นักเรียนยากจน ขยายผลสู่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในวันนี้ได้ประชุมร่วมกับนางปิยะฉัตร อินสว่าง รองผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพฯ จ.นครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 5 นครราชสีมา สำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดนครราชสีมา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 31 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจังหวัดนครราชสีมา เขต 1 – 7 หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เพื่อติดตามการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามปฏิทินการดำเนินโครงการในปีงบประมาณ 2563

ซึ่งขณะนี้จังหวัดนครราชสีมากำลังเร่งดำเนินการในขั้นตอนที่ 3 คือ สำนักงานจัดหางานจังหวัดจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมชี้แจงผู้อำนวยการโรงเรียนและครูแนะแนวทุกโรงเรียนให้ทราบวัตถุประสงค์ ขั้นตอน ปฏิทินการดำเนินโครงการ รายละเอียดในการกรอกแบบสอบถามให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2562 เพื่อที่ครูแนะแนวจะทำการสำรวจและจำแนกนักเรียนกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเข้ารับการฝึกอบรมให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 ธันวาคม 2562 และเตรียมพร้อมเปิดอบรมในเดือนเมษายน 2563 ต่อไป โดยหลักสูตรที่จะเปิดอบรมนั้นสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในจังหวัดนครราชสีมา เช่น ช่างซ่อมเครื่องยนต์ ช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ ช่างสีรถยนต์ ช่างเดินสายไฟฟ้าในอาคาร ช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก ช่างเชื่อมอาร์คโลหะด้วยมือ และช่างเย็บจักรอุตสาหกรรม (ผ้า)

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การขยายผลโครงการดังกล่าว สืบเนื่องมาจากการลงนามความร่วมมือกับ 4 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เร่งผลักดันการดำเนินโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ส่งมอบคู่มือและปฏิทินดำเนินงาน 10 ขั้นตอน ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นกรอบทำงานให้เสร็จทันในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งขณะนี้ทุกจังหวัดได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานจัดประชุมมอบหมายภารกิจทุกหน่วยงานในสังกัดทั้ง 4 กระทรวง รวมถึงภาคเอกชน เช่น หอการค้าจังหวัด และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพื่อชี้แจงขั้นตอนการดำเนินงาน กำหนดปฏิทิน หน้าที่ความรับผิดชอบ พร้อมทั้งกำหนดหลักสูตรตามความเหมาะสมและความต้องการของตลาดแรงงานในแต่ละจังหวัด เพื่อเตรียมการเปิดอบรมในเดือนเมษายน 2563

“โครงการนี้ช่วยตอบโจทย์สังคมเรื่องการแก้ไขปัญหาภาวะเด็กเรียนจบพร้อมตกงานในอนาคตโดยเฉพาะเด็กที่เรียนจบชั้น ม.3 ที่มีฐานะยากจนไม่สามารถเรียนต่อได้ ไม่มีทักษะฝีมือในการทำงาน แต่ต้องกลายเป็นผู้ใหญ่โดยฉับพลันแบกภาระความรับผิดชอบต่อสู้ชีวิต หางานทำต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวให้ได้รับโอกาสการพัฒนาตนเองติดอาวุธให้พวกเขาได้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคมไทย นำไปสู่การสร้างอาชีพที่มั่นคงในอนาคต” นายสมศักดิ์ กล่าว

วีระ  รัตนอักษรกุล ผู้สื่อข่าวรายงาน