การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดการประชุมกลุ่มย่อย การดำเนินงานของบริษัทที่ปรึกษา เพื่อศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ นครสวรรค์-ชัยภูมิ-บ้านไผ่ ที่ผ่านเส้นทางบัวใหญ่-เมืองพล ณ หอประชุมโรงเรียนวานิชวิทยา เขตเทศบาลเมืองบัวใหญ่ อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา โดยมีผู้นำชุมชนและประชาชนชาวอำเภอบัวใหญ่ อำเภอบัวลาย อำเภอสีดา อำเภอแก้งสนามนางและอำเภอบ้านเหลื่อม ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างในครั้งนี้เข้ารับฟังการประชุมมากกว่าหนึ่งพันคน เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา

ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ให้ดำเนินงานศึกษาความเหมาะสม โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงจังหวัดนครสวรรค์ ชัยภูมิ บัวใหญ่ เมืองพล บ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น นั้น โดยการดำเนินการจะต้องให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม และการประชาสัมพันธ์ด้วย จึงได้มีการประชุมกลุ่มย่อยตามแนวเส้นทาง ของโครงการเพื่อนำเสนอถึงข้อดี-ข้อเสีย ของแต่ละแนวเส้นทาง โดยหลักเกณฑ์การคัดเลือกแนวเส้นทางนั้น จะมีการประเมินถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ สำหรับนำไปประกอบการวิเคราะห์ศึกษา ตลอดจนแนวทาง การแก้ไขประเด็นที่เป็นข้อวิตกกังวลต่างๆของประชาชน เพื่อให้การดำเนินงานของโครงการมีความครบถ้วนและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยมี การนำเสนอรายละเอียดของโครงการ การศึกษาด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมของประชาชน และการอภิปรายตอบข้อซักถาม รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุม พร้อมทั้งจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ของโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่นี้

โดยในที่ประชุมประชาชนคนบัวใหญ่ได้กรอกแบบสอบถาม สนับสนุนแนวทางการสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ เป็นรถไฟทางคู่สายสีเหลือง จากจังหวัดนครสวรรค์ / อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี / อำเภอเทพสถิต-อำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอจัตุรัส อำเภอเนินสง่าจังหวัดชัยภูมิ / อำเภอบ้านเหลื่อม-แล้วไปเชื่อมกับรถไฟทางคู่อีกเส้นทางและสถานีขนถ่ายสินค้าที่ชุมทางอำเภอบัวใหญ่ –อำเภอบัวลาย จังหวัดนครราชสีมา / อำเภอพล-อำเภอโนนศิลา-อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เพราะเป็นเส้นทางที่ผ่านแหล่งท่องเที่ยว เป็นเส้นทางที่สำคัญทางเศรษฐกิจเนื่องจากใกล้โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปพืชผลทางการเกษตร ทำให้สะดวกในการขนถ่ายสินค้าต่างๆ

เนื่องจากสถานีชุมทางบัวใหญ่มีจุดขนถ่ายสินค้าหรือ Container Yard รองรับอยู่แล้ว และที่สำคัญส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดเพราะเส้นทางไม่ต้องตัดเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา รวมถึงไม่มีการเวนคืนที่ดินของชาวบ้านแทบจะ 100% ในการก่อสร้างรถไฟสายใหม่นี้ด้วย อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสม รวมถึงจัดทำค่าประมาณการก่อสร้าง ซึ่งหลังจากนี้จะได้ลงพื้นที่ประชุมย่อย ทำความเข้าใจกับชาวบ้านในแต่ล่ะพื้นที่อีกครั้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นประชาชนชาวบัวใหญ่ก็ต้องการให้รถไฟสายใหม่ ใช้สถานทีชุมทางบัวใหญ่ เป็นจุดจอดเพื่อให้อำเภอบัวใหญ่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมระบบรางของภาคอีสานต่อไป

ทีมข่าว MC.news.com นครราชสีมา