วันที่ 30มิถุนายน 2566 นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และคณะ ร่วมกันเปิดระบบกระจายน้ำคลองลุง โซนที่ 1 ระยะที่1 บ้านจานเหนือ หมู่ที่13 ต.กำปัง อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา หลังจากที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ รวม580,000 บาทและประชาชนในพื้นที่ร่วมกันดำเนินการตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2566 กระทั่งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ซึ่งการดำเนินการเป็นงานด้านเทคนิคการเชื่อมท่อใต้ดิน ทำให้ไม่สามารถใช้แรงงานมาช่วยได้เท่าที่ควร  และเมื่อทดลองเปิดระบบน้ำโดยใช้เครื่องสูบน้ำ 1 เครื่องเข้าระบบท่อปรากฏว่าแรงดันน้ำมีกำลังสูงสามารถส่งเข้าพื้นที่การเกษตรได้ 11 ราย พื้นที่ 85 ไร่

นายกฤษฎา บุญราช กล่าวว่า การดำเนินโครงการปรับปรุงเสริมศักยภาพกระจายน้ำคลองลุง โซนที่ 1 ระยะที่ 1 เนื่องจากหน่วยราชการปกติไม่สามารถก่อสร้างและติดตั้งเครื่องสูบน้ำหรือดึงน้ำในฝายที่อยู่ต่ำขึ้นที่สูง เพื่อกระจายน้ำเข้าสู่แปลงของเกษตรกรได้ เพราะไม่มีงบประมาณ สถาบันปิดทองหลังพระฯ จึงได้ให้อาสาสมัครสถาบันฯ ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการด้านยุทธศาสตร์น้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญด้านน้ำมาช่วยออกแบบเพื่อยกน้ำขึ้นที่สูงเพื่อยกระดับน้ำไหลเข้าแปลงของเกษตรกรผ่านระบบท่อใต้ดินซึ่งมีข้อดี คือ ไม่เสียพื้นที่ในการทำเกษตรสามารถใช้หน้าดินในการเพาะปลูกได้เต็มศักยภาพ

สถาบันได้รับงบประมาณเงินอุดหนุนทั่วไปจากกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเงินบริจาคของมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อมาสนับสนุนให้หน่วยราชการในจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ไปประชุมปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ซึ่งประสบปัญหาและมีความต้องการจะให้มีการซ่อมแซม หรือเสริมศักยภาพแหล่งน้ำขนาดเล็ก เช่น ฝาย เหมือง คลองส่งน้ำ ฯลฯ ซึ่งถูกปล่อยไว้ไม่มีหน่วยงานใดเข้ารับผิดชอบเนื่องจากขาดแคลนงบประมาณและระเบียบราชการที่ไม่เปิดช่องทางหรือไม่สามารถดำเนินการได้ตามระเบียบราชการทั่วไปเพื่อให้สถาบันฯมาสนับสนุนดำเนินการให้เนื่องจากสถาบันฯ เป็นองค์กรพัฒนาที่ไม่ได้แสวงหากำไรภายใต้สังกัดมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ

สำหรับพื้นที่ซึ่งจะสามารถขอรับการสนับสนุนจากสถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นพื้นที่ ซึ่งประชาชนมีความต้องการและยินดีที่จะสละแรงงานและเวลามาร่วมดำเนินการก่อสร้างซ่อมแซมและพัฒนาแหล่งน้ำด้วย โดยสถาบันฯ จะสนับสนุนงบประมาณและวัสดุในการซ่อมแซมและพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กดังกล่าว โดยขอความร่วมมือนายช่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการซ่อมแซม รวมทั้งขอให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและนายอำเภอนำกำลังแรงงานชาวบ้านมาร่วมดำเนินการด้วย ซึ่งในปีนี้มีพื้นที่ดำเนินการรวม 9 จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้งบประมาณรวม 42.88 ล้านบาท จำนวน 132 โครงการ คาดว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 9,751 ครัวเรือน พื้นที่ทำการเกษตร ได้รับน้ำจำนวน 46,800 ไร่

นอกจากนี้ การสนับสนุนของสถาบันฯ มีเงื่อนไขสำคัญของโครงการ คือ เรื่องแรกต้องเป็นความต้องการที่แท้จริงของชุมชน หรือหมู่บ้าน โดยประชาชนมีส่วนร่วมสละแรงงานในการซ่อมแซม และเรื่องที่สอง หลังจากซ่อมแซมแล้วเสร็จประชาชนผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการจะต้องมีการตั้งกลุ่มคณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อช่วยกันดูแลบำรุงรักษาให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง อันเป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนและรู้รักสามัคคี

Cr:ปชส.นม. สำนักข่าวMC.news.รายงานจากจังหวัดนครราชสีมา