นายก อบจ.โคราช นำทีม รองฯ ทั้ง 4 คน แถลงผลการดำเนินงานในรอบปี 65 ภายหลังลุยงานอย่างเต็มพิกัด ภายใต้พลังความร่วมมือจากทีมบริหาร ข้าราชการประจำ และฝ่ายสภา อบจ. ในการแก้ไขปัญหา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแบบก้าวกระโดดอย่างชัดเจน!! แม้จะเจอปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 การจัดเก็บภาษียังสามารถจัดเก็บได้กว่า 89ล้านบาทเศษ !!! ย้ำ ภารกิจด้านการพัฒนาเมือง พัฒนาคน พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ยังต้องเดินหน้าต่อ เผยเป้าหมายปี 66 ยึดแผน 3 สร้าง + 2 พัฒนา  มุ่ง  “สร้างคน สร้างเศรษฐกิจ สร้างเมืองโคราช” 

นางยลดา  หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา กล่าวว่า หลังจากเข้ามารับตำแหน่งนายก อบจ.นครราชสีมา และได้แถลงนโยบายต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราสีมา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 ได้ลงมือทำงานจริงตามที่ได้ตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้น แต่ด้วย จ.นครราชสีมาเป็นจังหวัดใหญ่ มีจำนวนประชากรมากกว่า 2.6 ล้านคน มีเส้นทางเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจไปยังภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้การบริหารงานเพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาเมือง ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการมาระดมความคิด ร่วมมือ ร่วมใจไม่ว่าจะเป็นทีมบริหาร ข้าราชการ และที่สำคัญต้องผนึกกำลังฝ่ายนิติบัญญัติที่ทำหน้าที่ในสภา อบจ. ที่มีความใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ห้วงปีงบประมาณ 2565 ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิด “โคราชโฉมใหม่” ไม่ว่าจะเป็นถนน ไฟฟ้า และ น้ำ ได้ขับเคลื่อนงานก่อสร้างถนนทั้งที่อยู่ในความรับผิดชอบของอบจ.และของท้องถิ่นเสร็จจำนวน 255 โครงการ รวมระยะทางที่จัดทำกว่า 183 กิโลเมตร งบประมาณกว่า 376 ล้านบาท   

นอกจากนี้ อบจ.โคราช ยังเป็นแห่งแรกของท้องถิ่นในประเทศไทย ที่มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง อบจ. –ผู้รับจ้าง –ตัวแทนภาคประชาชน ในการก่อสร้างถนนที่อบจ.นครราชสีมาดำเนินการ ส่วนกรณี ถนนบางสายทางไม่ใช่ถนนของ อบจ. แต่เป็นถนนของเทศบาล หรือ อบต. หากเกินศักยภาพแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถประสานแผนมายัง อบจ. นครราชสีมา เพื่อขอรับการสนับสนุนในการดำเนินการซ่อมสร้าง โดยฝ่ายบริหารจะได้นำแผนเข้าสภาฯ เพื่อขออนุมัติและดำเนินการซ่อมสร้างต่อไป “ไฟฟ้าส่องสว่าง” ในปีงบประมาณ 2565 อบจ.ได้ดำเนินการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง สำหรับสายทางที่อยู่ในความรับผิดชอบของ อบจ.นครราชสีมา บนถนน 36 สายทาง เป็นระยะทาง 19,900 เมตร กว่า 796 ต้น “น้ำ” ปีงบประมาณ 2565 ดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาล กว่า 100 บ่อ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำและสำหรับใช้ในด้านการเกษตรที่เพียงพอ

ด้านคุณภาพชีวิต เป็นภารกิจที่ได้มอบหมายให้กองสวัสดิการสังคม ดำเนินการจัดทำโครงการต่างๆ โครงการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยฯ ให้กับประชาชน 4 กลุ่มเป้าหมาย จำนวนทั้งสิ้น 231 ราย ใน 32 อำเภอ ดำเนินการแล้วเสร็จและส่งมอบเป็นที่เรียบร้อย ด้วยเงินงบประมาณทั้งสิ้น 11,550,000 บาท  โครงการศูนย์สาธิตและยืมอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้าน ปีงบประมาณ 2565 สนับสนุนไปทั้งสิ้น 4,235,400 บาท เพื่อจัดหาอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการจำนวน 15 รายการ โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้ประชาชนที่สนใจได้มีโอกาสเพิ่มทักษะและมีอาชีพใหม่ๆ สร้างรายได้เสริม หรืออาจจะเป็นรายได้หลักให้กับครอบครัว เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก

โครงการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ “สุขใจใกล้บ้าน” ดำเนินงานร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และ อสม.ในพื้นที่ ที่จะเป็นหน่วยงานสนับสนุนทรัพยากรด้านต่างๆ ส่วน อบจ.นครราชสีมา สนับสนุนด้านงบประมาณ โครงการส่งเสริมสนับสนุนด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง ภายใต้การลงนาม MOU กับทางสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อร่วมกันส่งเสริมและแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังแบบบูรณาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการผลิตมันสำปะหลังได้อย่างเหมาะสม เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

นอกจากนั้นยังได้จัดอบรมให้กับเกษตรกรและส่งเสริมอาชีพ อาทิ เลี้ยงสัตว์พื้นบ้าน สัตว์เศรษฐกิจ เกษตรอินทรีย์ขั้นพื้นฐาน เกษตรปลูกมันสำปะหลัง ไม้ผลหรือพืชเศษฐกิจใหม่ เกษตรยุคดิจิทัล การขายสินค้าออนไลน์ ส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม มีการพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกันและเพิ่มคุณภาพให้กับผลผลิต ของเกษตรกรด้วย 

 ด้านสาธารณสุข ปี 2565 ยังเกิดการแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโควิด –19 เป็นการทำงานร่วมกับทางสาธารณสุขจังหวัด ในส่วนของ อบจ. ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 8,025,000 บาท ให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด นำไปจัดสรรวัสดุทางการแพทย์ที่จำเป็นในการตรวจคัดกรองค้นหาผู้ป่วยในจังหวัดนครราชสีมาเชิงรุก อย่างมีประสิทธิภาพ รณรงค์ให้บุลากรในหน่วยงาน รวมถึงนักเรียนในสังกัด และ ผู้สูงอายุที่อยู่ในความดูแลของ อบจ. ได้รับวัคซีนแบบ 100% โครงการส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ เพื่อเป็นการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาความรู้ความเข้าใจป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ อาทิ โรคไข้เลือดออก หรือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การพัฒนาด้านสุขภาพที่ดี ปฏิบัติตนถูกสุขลักษณะอนามัย มีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันและดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ส่งผลไปสู่อนามัยที่ดีในครอบครัว ชุมชนของนักเรียน 

ด้านการศึกษา  พัฒนาระบบเครือข่ายอินเตอร์เนตไร้สาย “Wi-Fi TOPOLOGY” เพื่อการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดทั้ง 58 แห่ง ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายไร้สายที่สามารถช่วยในการเรียนการสอนสำหรับครูและนักเรียนได้ดียิ่งขั้น ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้การศึกษาของโรงเรียน อบจ.นครราชสีมา ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีคุณภาพ”  โครงการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน สนับสนุนงบประมาณจัดสร้างห้องเรียนออนไลน์และห้องเรียนเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นการมอบโอกาสให้กับเด็กได้เข้าถึงเทคโนโลยีทางการศึกษา การจัดแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต เป็นครั้งแรก ของ อบจ.นครราชสีมา โดยจัดแข่งขัน.ให้กับนักเรียนในสังกัดฯ เป็นการสนองนโยบายจังหวัด “โคราชเมืองกีฬา” การบูรณาการด้านการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัย 4 แห่ง และ วิทยาลัยด้านการอาชีพภายในจังหวัดนครราชสีมา เพื่อร่วมกันพัฒนาการจัดการเรียนการสอนเพิ่มศักยภาพการศึกษาให้ครอบคลุมทุกด้าน โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา 3 ดี 4 ประกัน เพื่อให้เกิดแนวทางพัฒนาการศึกษาของ อบจ.นครราชสีมา ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นำไปสู่เป้าหมาย

 3 ดี ได้แก่ ประสิทธิภาพดี คุณภาพดีและสิ่งแวดล้อมดี ส่วน 4 ประกัน ได้แก่ ประกันหลักสูตรสถานศึกษา อาทิ การจัดทำหลักสูตรให้เป็นลายเส้นที่แสดงความเป็นหลักสูตรเฉพาะของ อบจ.นครราชสีมา ประกันคุณภาพการศึกษา ประกันความปลอดภัย และ ประกันโอกาสทางการศึกษา ให้มีการขับเคลื่อนระบบการศึกษาไปตามเกณฑ์ ที่สำคัญลดความเหลื่อมล้ำโอกาสทางการศึกษา โครงการพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอนมากกว่า 2 ภาษา และ โครงการห้องเรียน “STEAM and Coding Education2022” งบประมาณกว่า 10 ล้านบาท มอบทุนการศึกษา 5 ล้านบาท สำหรับนักเรียนเรียนระดับชั้น ม.ต้น และ ม.ปลายที่มีผลการเรียนดีแต่ยากจน และ ทุนต่อเนื่องสำหรับศึกษาในระดับที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ยังมี โครงการติดตั้งกล้องวงจรปิด ” CCTV” อบจ. ทำ MOU กับ ตำรวจภูธรจังหวัด ติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อเพิ่มพื้นที่ “Safety Zone” นำร่อง 10 อำเภอ งบประมาณทั้งสิ้น 10 ล้านบาท เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การป้องกันอุบัติเหตุในการจราจร ของประชาชนด้วยเทคโนโลยี ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยถือประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นสำคัญมีการ “มอบถุงน้ำใจ อบจ. ให้กับประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัย วาตภัย และอัคคีภัย โครงการฝึกอบรมเรียนรู้อัคคีภัยและข้อมอพยพหนีไฟ ในภาวะฉุกเฉินโรงเรียนในสังกัด อบจ.นครราชสีมาจำนวน 58 แห่ง ผลักดันแคมเปญ “โคราชเที่ยวได้ทุกเดือน” เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการท่องเที่ยว และหน่วยงานอื่นๆให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจชุมชน ให้ประชาชนเกิดรายได้จากการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

ด้านการคลัง อบจ.นครราชสีมา เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลำดับต้นๆ ที่มีการจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในส่วนของภาษี ในปีงบประมาณ 2565 อบจ. ภาษีน้ำมัน จำนวน 844 ราย จัดเก็บได้จำนวน4,385,525.84 บาท ภาษียาสูบ จำนวน 19 ราย จัดเก็บได้ จำนวน 81,457,033 บาท และ ภาษีโรงแรม ที่พัก รีสอร์ทจำนวน 820 แห่ง จัดเก็บได้ จำนวน 4,780,883.12 บาท ซึ่ง อบจ. จัดทำ QR Code เพื่อเป็นช่องทางอำนวยความสะดวกในการชำระภาษีและค่าธรรมเนียม

“ความสำเร็จในปี 2565 นับเป็นจุดเริ่มต้นของทิศทางการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา ต่อจากนี้ ในปี2566 อบจ.ได้วางเป้าหมาย “ยุทธศาสตร์ 3 สร้าง ได้แก่ สร้างคน สร้างเศรษฐกิจ สร้างเมืองโคราช” ไปพร้อมๆ กับ”ยุทธศาสตร์ 2 พัฒนา ได้แก่ การพัฒนาตามแนวทางพระราชดำริ และ การพัฒนาด้านระบบการบริหารจัดการภาครัฐ”เพื่อให้เกิดความสำเร็จที่ต่อเนื่องและชัดเจนมาขึ้น” นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา เผยในท้ายสุด

สำนักข่าว MC.news.com รายงาน