พื้นที่โฆษณา

โคราชโควิดระบาดไม่หยุด  สูงสุดยังครองแชมป์ภาคอีสาน ติด 1ใน 10 อันดับของประเทศไทย เหมือนเป็นการบริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อที่ล้มเหลว วันนี้พบผู้ติดเชื้อในหมู่บ้านและชุมชน 560 ราย และยังมีผลตรวจ ATK + จำนวน 318 ราย รวม +878ราย สถานที่ติดเชื้อยอดฮิตยังคงเป็น งานบวช-งานเลี้ยง-งานศพ -ตลาดสด และโรงงาน  ที่ขยายกระจายวงแพร่ระบาดในบ้านทั้งครอบครัว รวมทั้งเพื่อนบ้าน เป็นการติดเชื้อมาจากหลายพื้นที่ ประชาชนในหลายพื้นที่เริ่มหวาดผวากับมาตรการรักษาแบบคนป่วยธรรมดา แบบดูแลตัวเอง หลัง สสจ.โคราช  เปิดมาตรการดูแลคนติดโควิด-19 ด้วยแนวทาง “3หมอ กับ Call center”!! หลังผลักไสให้เป็น “โรคประจำถิ่น”!!

พื้นที่โฆษณา

คณะกรรมการโรคติดต่อ-และคณะอนุกรรมการศูนย์ติดตามสถานการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อโควิด-19จังหวัดนครราชสีมา ได้รายงานถึงการระบาดของโควิด-19 จ.นครราชสีมา วันที่ 3 มีนาคม  พ.ศ. 2565 พบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ชุมชนรายใหม่ 560 ราย และยังมีผลตรวจ ATK + จำนวน 318 ราย รวม +878ราย แยกเป็นผู้ป่วยติดเชื้อนอกเขตจังหวัด 14 ราย  ตรวจพบเชื้อผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง (กทม.) 4 ราย  มาจากพื้นที่เสี่ยง (ชลบุรี) 5 ราย  มาจากพื้นที่เสี่ยง (บึงกาฬ) 1 ราย  มาจากพื้นที่เสี่ยง (ปทุมธานี) 1 ราย  มาจากพื้นที่เสี่ยง (ภูเก็ต) 1 ราย  มาจากพื้นที่เสี่ยง (ศรีษะเกษ) 1 ราย  มาจากพื้นที่เสี่ยง (อุดรธานี) 1 รายและ ติดเชื้อในเขตจังหวัด 546 ราย

.จากสถานการณ์นี้ทำให้ จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค. 65  รวม 18,934 ราย  รักษาอยู่ 8,213 ราย  รักษาหายสะสม 10,676 ราย  เสียชีวิตสะสม 42 ราย  วันนี้เสียชีวิต 1 ราย  คือรายที่ 42 ของ จ.นครราชสีมา เพศหญิง อายุ 65 ปี ภูมิลำเนาอาศัยอยู่ที่ ต.ในเมือง อ.เมือง ติดเชื้อโควิด-19 มีโรคประจำตัว เสียชีวิต ที่  รพ.มหาราชนครราชสีมา รายงานได้แบ่งผู้ป่วยตามรายอำเภอปรากฏว่า  อ.เมือง มีผู้ป่วยติดเชื้อสูงสุด 132 รายรองลงมาเป็น อ.สูงเนิน 71 ราย ถัดไปเป็น อ.ปากช่อง 54 ราย, อ.พิมาย 42 ราย, อ.ครบุรี 32 ราย, อ.คง 24 ราย, อ.จักราช 24 ราย, อ.ปักธงชัย 23 ราย, อ.ชุมพวง 22 ราย, อ.เสิงสาง 20 ราย, อ.โนนสูง 19 ราย, อ.แก้งสนามนาง 16 ราย, อ.ประทาย 16 ราย, อ.ขามสะแกแสง 15 ราย, อ.เมืองยาง 14 ราย, อ.บัวลาย 9 ราย, อ.พระทองคำ 9 ราย, อ.บัวใหญ่ 5 ราย, อ.ห้วยแถลง 4 ราย, อ.วังน้ำเขียว 4 ราย, อ.บ้านเหลื่อม 2 ราย, อ.ขามทะเลสอ 2 ราย และ อ.ด่านขุนทด 1 ราย

พื้นที่โฆษณา

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายแพทย์วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ได้วางแนวทางในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ในพื้นที่ พร้อมทั้งหารือการเตรียมความพร้อม ในการดูแลรักษาผู้ป่วยแบบโรคประจำถิ่น โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข แจ้งให้เพิ่มบริการรักษาในรูปแบบของผู้ป่วยนอก OPD ให้กับผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการป่วยหรืออาการป่วยไม่มาก  โดยให้สังเกตอาการตัวเองที่บ้าน แบบ Seif Observation  

พื้นที่โฆษณา

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา กล่าวว่า โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมพร้อม ในการดูแลรักษาผู้ป่วยหาก สธ.ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น  เป้าหมายคือเดือนมิถุนายน 65 นี้  โดยคณะกรรมการโรคติดต่อฯได้เร่งทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนให้ทราบว่า วิธีการต้องทำย่างไร โดยได้ให้ สสจ.ทำสื่อประชาพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนทั้ง32อำเภอ ว่าหากคนในครอบครัวติดเชื้อโควิด-19  จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร  โรคประจำถิ่นโควิด-19 ก็เป็นโรคธรรมดาที่เกิดขึ้นได้เหมือนโรคทั่วไป  อย่างไรก็ตามมาตรการป้องกันและการดูแล ยังคงต้องปฏิบัติเหมือนเดิมอย่างเข็มข้น  และหากประกาศเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและ ชีวิตประจำวันของประชาชน ให้ดีขึ้นอย่างแน่นอน

แฟ้มภาพ

นายวิเชียร ผวจ.นครราชสีมา กล่าวต่อว่า สถานการณ์การระบาดที่มียอดสูงขึ้นขณะนี้ต้องถือว่ายังไม่ทรงตัว วันนี้ตัวเลขยังขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งTR-PCR และ ATK ซึ่งจะต้องลงไปตรวจในทุกพื้นที่ ในมาตรการต่างๆที่เราดำเนินการ สิ่งสำคัญคือ การขยายเตียงโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้น  เนื่องจากโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ต้องสงวนเตียงที่เหลือไว้สำหรับผู้ป่วยที่เป็นสีแดง และสีเหลืองที่ส่อมีอาการหนัก ฉะนั้นเราต้องเอาผู้ป่วยที่ไม่ยังถึงกับรุนแรงต้องไปอยู่ รพ.สนามต่างๆ เพื่อทำให้ รพ.มหาราชนครราชสีมามีพื้นที่ว่างพอที่จะรับผู้ป่วยที่รุนแรง

นอกจากนี้เราเปิด CI ครบทั้ง 32 อำเภอ โดยเฉพาะในเขต อ.เมืองนครราชสีมา มีการเปิด CI รองรับมากขึ้น ที่หอประชุมอำเภอเมืองนครราชสีมา ภายในสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ และวัดป่าสาละวัน และ  เปิด CI เพิ่มสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่จะเข้ารักษา ที่ รพ.มทส. ไม่ต้องไปเข้า CI รวม ในส่วนของโรงงานที่มีการติดเชื้อ ก็จะต้องหาสถานที่ทำ CI ในโรงงาน  โดยไม่ปล่อยคนงานหรือพนักงานกลับไปพื้นที่ชุดชนของตัวเอง CI รวมทั้งโรงเรียนถ้ามีการติดเชื้อ มากๆต้องปิดโรงเรียนแล้วใช้อาคารเรียนเป็น CI สถานที่ต่างๆที่มีผู้คนเข้าออกจะต้องเตรียมความพร้อม กับการเข้มงวด ในการเข้าออกทุกพื้นที่  ต้องมีการสแกนวัดอุณภูมิ ,ใส่แมสก์, เว้นระยะ,และ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์

“การรณรงค์ให้ทุกคนไปฉีดวัคซีนถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะสกัดกั้นการติดเชื้อ โดยตอนนี้มีการลงไปฉีดตามบ้าน และมีการแยกออกระหว่างคนฉีด กับที่ไม่ได้ฉีด และคนยังไม่ประสงค์จะฉีด และคนที่อยากจะฉีด แต่ยังไม่มีโอกาสได้ฉีด วันนี้เราจะลงไปแต่ละบ้าน  ไปเคาะประตูเพื่อจะนำคนเหล่านี้มาฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด และขอวิงวอนว่าหากพบการติดเชื้อโควิดในที่ใดต้องแจ้งทางคอลเซ็นเตอร์ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ เพื่อจะได้ไปป้องกัน”นายวิเชียรกล่าว

แฟ้มภาพ

นายวิเชียร กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดมีการบริการตรวจ ATK ทุกวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ฟรี ตั้งแต่เวลา 10.00-15.30 น. บริการไปจนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2565 ที่ลานต้นโพธิ์ ศาลากลาง จ.นครราชสีมา โดยคนไหนสงสัยว่าติดเชื้อก็สามารถเข้าตรวจ ATK ได้ทันที เพื่อจะได้แยกตัวออกไม่ให้เกิดการระบาด ขณะนี้เราเฝ้าติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิด จ.นครราชสีมา ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 25-27มีผู้ได้รับการตรวจทั้งหมด 1,650 คน พบว่ามีผลเป็นบวกติดเชื้อ 89 ราย และทุกรายได้ส่งเข้าระบบ HI เพื่อดูแลตัวเอง เนื่องจากไม่มีอาการรุนแรง

แฟ้มภาพ

นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รอง ผวจ.นครราชสีมากล่าวว่ามีข้อสังเกตุเกี่ยวกับคลัสเตอร์งานศพ ตลาดสด และโรงงาน  ที่ขยายวงแพร่ระบาดในบ้านในครอบครัว เพื่อนบ้าน และการติดเชื้อมาจากหลายพื้นที่โดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นงานหนักที่ ศปก.อำเภอต่างๆจะต้องมีการดำเนินงานกันอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง  เราได้รับผลกระทบโดยตรงและตัวเลขขึ้นสูง วันนี้ไม่ใช่การติดมาจากที่อื่น แต่เป็นการติดในพื้นที่ของเราเอง  โดยทุกคนมีโอกาสที่จะติดเชื้อ แต่ทุกคนก็สามารถที่ช่วยจะให้การติดมันน้อยลง โดยพี่น้องประชาชนต้องให้ความร่วมมือทำตามมาตรการสาธารณสุข ไม่ว่าเรื่องของการใส่หน้ากาก การเว้นระยะ ไม่ไปชุมนุมโดยไม่จำเป็น  หรือเมื่อกลับจากไปชุมนุม หรือ ไปงานศพก็งดรับทานอาหารร่วมกัน เพื่อความปลอดภัย ข้อสำคัญคือการเฝ้าสังเกตตัวเองหากพบการเสี่ยงก็ไปขอรับการตรวจ ATK โดยด่วนที่สุด

.สำนักข่าว MC.news.com รายงานจากจังหวัดนครราชสีมา