นาย กิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว เกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งขณะนี้หลายอำเภอประสบภัยแล้งและได้มีการประกาศภัยแล้งแล้ว สำหรับสถานการณ์ปริมาณน้ำในพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีอ่างกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 24 แห่ง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเฉลี่ยของจังหวัด อยู่ที่ 26 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีปริมาณน้ำต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ อยู่ทั้งหมด 18 อ่าง และอ่างที่ไม่มีน้ำเลยหรือศูนย์เปอร์เซนต์ ,มี 8 อ่าง




“ถือว่าในปีนี้จังหวัดนครราชสีมามีปริมาณน้ำน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำฝนเมื่อปีที่แล้วที่ตกลงมา ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องมีความชัดเจนโดยมีการกำชับการดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักการ โดยลำดับความสำคัญของการใช้น้ำโดยพิจารณาจากน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค มาเป็นลำดับที่ 1 น้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศน์เป็นลำดับที่ 2 ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรจะเป็นลำดับที่ 3 และน้ำเพื่ออุตสาหกรรมเป็นลำดับที่ 4 และลำดับที่ 5 ซึ่งเป็นลำดับสุดท้ายก็เพื่อกิจการอื่น ๆ”นายกิติกุลกล่าวและว่า


โดยในปีนี้ทางจังหวัดนครราชสีมา ได้ให้งดการปลูกพืชที่ใช้น้ำเป็นจำนวนมาก อาทิ นาปัง ซึ่งมีการสั่งห้ามปลูกทั้งจังหวัด แต่ก็ยังสามารถปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยได้ โดยที่ผ่านมาได้มีการลำเลียงส่งน้ำไปยังพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค แต่ยังพบว่ามีชาวบ้านหรือเกษตรกรบางส่วนที่ยังไม่ให้ความร่วมมือ ด้วยการลักลอบนำน้ำเข้าไปในพื้นที่นาปลัง ซึ่งทางภาครัฐโดยจังหวัดไม่มีการสนับสนุนการปลูกพืชที่ใช้น้ำมากเด็ดขาด ดังนั้นหากเกิดภาวะเสี่ยงจะต้องรับผิดชอบกันเองสำหรับรายที่ยังทำนาปลังอยู่ เพราะโครงการชลประทานนครราชสีมา จะเน้นในเรื่องของการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค เท่านั้น เพราะพื้นที่ส่วนมากที่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ซึ่งปัจจุบันทางจังหวัดนครราชสีมา ได้มีการประกาศภัยแล้งไปแล้วหลายอำเภอ


ทีมข่าว MC.news.com รายงาน