วันที่ 25 สิงหาคม 2566 เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา นายรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์ ประธานสภา อบจ.นครราชสีมา เปิดการประชุมสมัยสามัญ สมัยที่ 2 ครั้งที่ 2/2566 วาระสำคัญคือฝ่ายบริหารได้เสนอญัตติร่างข้อบัญญัติงบประมาณประจำปี 2567 โดยมีนางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.พร้อมรองนายก อบจ.นครราชสีมาและสมาชิกสภา (ส.อบจ.) นครราชสีมา จำนวน 44 คน จากทั้งหมด 48 คน รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมพิจารณาญัตติสำคัญนี้

นายวีรชาติ ทุ่งไผ่แหลม รองนายก อบจ.นครราชสีมา เสนอญัตติข้อบัญญัติ อบจ.นครราชสีมา เรื่องงบประมาณรายจ่ายเพื่อขอความเห็นชอบร่างรายรับ-รายจ่าย งบประมาณ พ.ศ 2567 วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ โดยรายงานถึงสถานการณ์การเงินการคลัง โดย อบจ.โคราช มีเงินฝากธนาคาร 4,900,195,945 บาท เงินสะสม 4,474,199,374 บาท ทุนสำรองเงินสะสม 984,676,711 บาท รายการกันเงินไว้แบบก่อหนี้ผูกพันและยังไม่ได้เบิกจ่าย 45 โครงการ รวม 98,989,386 บาท รายการที่กันเงินไว้โดยไม่ได้ก่อหนี้ผูกพัน 289 โครงการ รวม 221,512,147 บาท เงินกู้คงค้าง 24,805,800 บาท

สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ 2567 อบจ.นครราชสีมา ได้ตั้งประมาณการรายจ่ายทั้งสิ้น 3,416,201 บาท แยกเป็นงบดำเนินงาน รายจ่ายจริง 218,427,200 บาท งบบุคลากร 1,607,759,500 บาท งบดำเนินงาน 1,084,404,700 บาท งบลงทุน 505,609,900 บาท เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบายของฝ่ายบริหารและแผนพัฒนาท้องถิ่น  และขอให้สมาชิกได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างรายรับ-รายจ่ายนี้เพื่อดำเนินการต่อไป จากนั้นสมาชิกสภาได้อภิปรายเพื่อแสดงความคิดเห็น

นายอดุลย์ อยู่ยืน ส.อบจ.เมือง เขต 2 ได้อภิปรายว่าติดใจกับการบริหารงบลงทุน ซึ่งในทุกปีมีประมาณ 500 ล้านบาท แต่พอถึงสินปีงบประมาณก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ ยกตัวอย่างในปีนี้มีที่ยังไม่ได้ทำตามโครงการที่เสนอหลายโครงการเป็นเม็ดเงินรวมกันกว่า 300 ล้าน เท่าที่ทราบปัญหาความล่าช้าพบว่าเกิดจากการจัดส่งงบประมาณ และพอถึงสิ้นปีงบประมาณ ก็ทำให้ต้องกันเงินไว้เพื่อทำโครงการในปีต่อไป ซึ่งก็ไม่ทันต่อความต้องการของประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อน จึงอยากจะให้ทางฝ่ายบริหารได้หาวิธีทำให้โครงต่างๆที่ทำไว้ได้ดำเนินการไปอย่างรวดเร็ว เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน

 นางยลดาได้ชี้แจ้งว่าต้องขอขอบคุณสมาชิกที่ได้อภิปรายถึงปัญหาของงบลงทุน ซึ่งก็เป็นความจริงอย่างที่สมาชิกได้อภิปราย อย่างไรก็ตามการดำเนินโครงการต่างๆก็ต้องเป็นไปตามระเบียบ และข้อกฎหมาย โดยฝ่ายบริหารก็ได้มีการแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด โดยสถานการณ์ในทุกวันนี้ก็มีการดำเนินการได้ดีขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา เมื่องบประมาณตกมาทาง อบจ.เราก็เร่งรีบดำเนินโครงในทันที คิดว่าปัญหานี้จะค่อยๆลดลงตามลำดับ หลังจากนั้น ส.อบจ.นครราชสีมา ยกมือเห็นชอบวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ เป็นเอกฉันฑ์

หลังการประชุม นางยลดา เปิดเผยว่า อบจ.โคราช เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขนาดใหญ่ แต่ปีงบประมาณ 2567 ฝ่ายบริหารพยายามจัดสรรงบพัฒนาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และทุกกิจกรรม ขอขอบคุณ ส.อบจ.ที่เห็นชอบหลักการโดยช่วยสอดส่องดูแลและติดตามข้อบกพร่องเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน หลายพื้นที่ยังประสบปัญหาความเดือดร้อน

“ภาระเร่งด่วนที่สำคัญคือการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ถนน แหล่งน้ำ สิ่งก่อสร้าง โดยเฉพาะภารกิจการแก้ไขปัญหาถนน 199 สาย  การพัฒนาดูแลรับผิดชอบโรงเรียนมัธยมในสังกัด อบจ.นครราชสีมา 58 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ถ่ายโอนภารกิจ 182 แห่ง ให้มีคุณภาพและเพื่อประโยชน์และตอบสนองความต้องการให้เป็นไปตามนโยบาย “โคราชโฉมใหม่”ที่กำหนดไว้”นายก อบจ.โคราชกล่าว

สำนักข่าว MC.news รายงานจากจังหวัดนครราชสีมา