“สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต” ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน  ยืนยันคำวินิจฉัยกรณีชาวบ้าน 4อำเภอที่ถูกอุทยานปักป้ายรุกที่ดินทำกิน เป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินในการขจัดหรือระงับความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น โดยผ่านการพิจารณากลั่นกรองทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างครบถ้วนรอบด้าน โดยมิใช่การเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลที่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งกลุ่มบุคคลใด

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีการกล่าวอ้างข้อมูล การแสดงความคิดเห็นหรือข้อห่วงกังวล เกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี ที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ว่าเป็นการพิจารณาอย่างเร่งรีบจนผิดปกติ เป็นการเพิกถอนที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์ โดยเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบุคคลที่ได้ที่ดินมาโดยการซื้อขายเปลี่ยนมือหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย และอาจส่งผลให้กลุ่มบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานหลุดพ้นจากความผิด โดยกล่าวอ้างว่าการดำเนินการดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินที่เสนอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก้ไขปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กรณีการแก้ไขปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เรื่องดังกล่าวประชาชนในพื้นที่อำเภอปักธงชัย อำเภอเสิงสาง อำเภอครบุรี และอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อปี พ.ศ. 2554 และ 2561 ว่าได้รับความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรมจากกรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ประกาศแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานทับซ้อนกับที่ดินที่ประชาชนอยู่อาศัยทำกินมาแต่เดิม และมีการจับกุมดำเนินคดีประชาชนโดยอาศัยเส้นแนวเขตที่บกพร่องคลาดเคลื่อน

“ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไว้พิจารณาพร้อมแต่งตั้งคณะทำงานปรับปรุงแผนที่เพื่อจัดทำรูปแผนที่ที่ทับซ้อนกันของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงลงพื้นที่เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง และประชุมหารือเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปรากฏว่า เมื่อปี พ.ศ. 2524 กรมป่าไม้ ได้นำที่ดินที่มิได้มีสภาพเหมาะสม กล่าวคือ เป็นพื้นที่ชุมชน และป่าเสื่อมโทรมจากการให้สัมปทานทำไม้หวงห้ามแก่เอกชน มากำหนดเป็นเขตอุทยานแห่งชาติโดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งขัดต่อหลักเกณฑ์ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 อีกทั้งในการดำเนินการดังกล่าว”

สาเหตุเกิดจากรัฐมิได้เข้าสำรวจรังวัดพื้นที่จริง  ส่งผลให้การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลานทับซ้อนกับที่ดินทำกินของราษฎรที่อยู่อาศัยมาแต่เดิม ซึ่งปรากฏหลักฐานการจัดตั้งหมู่บ้านตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 และบางส่วนเป็นพื้นที่ที่รัฐได้อพยพราษฎรที่อยู่อาศัยอย่างกระจัดกระจายในพื้นที่ป่าไม้มาอยู่รวมกันด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง โดยให้คำมั่นแก่ราษฎรว่า จะจัดสรรที่ดินให้อยู่อาศัยทำกิน มีการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านใช้ชื่อว่า “บ้านไทยสามัคคี”

 นอกจากนี้การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติดังกล่าวยังทับซ้อนกับพื้นที่ดำเนินโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่มีสภาพเสื่อมโทรมให้นำพื้นที่ดังกล่าวไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งกรมป่าไม้ ก็ได้ร่วมกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และหน่วยงานด้านความมั่นคง สำรวจรังวัดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและส่งมอบให้ ส.ป.ก. ดำเนินการแล้ว อีกทั้งยังทับซ้อนกับพื้นที่ดำเนินโครงการของรัฐเพื่อความมั่นคงตามมติคณะรัฐมนตรี ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคงในพื้นที่ (พมพ.) และโครงการจัดที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.)

กรณีนี้ภาครัฐได้ยอมรับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และที่ผ่านมาได้มีการเสนอให้แก้ไขปัญหาด้วยการแก้ไขปรับปรุงแนวเขตมาโดยตลอด มิใช่เพิ่งมาเริ่มดำเนินการ โดยเมื่อปี พ.ศ. 2533 กอ.รมน.ภาค 2 ได้เสนอให้กรมป่าไม้ (ในขณะนั้น) แก้ไขปรับปรุงแนวเขต ซึ่งกรมป่าไม้ก็ยอมรับว่า มีข้อผิดพลาดจริงและมีคำสั่งให้แก้ไขปรับปรุงแนวเขตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 อีกทั้งคณะรัฐมนตรียังได้มีมติเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2540 ยืนยันแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยการปรับปรุงแนวเขต ซึ่งกระบวนการดังกล่าวส่วนราชการ ชุมชน และราษฎรในพื้นที่ ได้ดำเนินการสำรวจรังวัด จัดทำแผนที่ และฝังหลักเขตอุทยานแห่งชาติทับลานร่วมกันเป็นครั้งแรก จนกระทั่งเกิดเป็นเส้นแนวเขตปี พ.ศ. 2543 ซึ่งมีความถูกต้องตรงตามสภาพความเป็นจริง เป็นที่รับรู้และยอมรับร่วมกันของทุกภาคส่วน มีทั้งการเพิกถอนและขยายเขตอุทยานแห่งชาติ เพียงแต่เมื่อปี พ.ศ. 2545 มีการปฏิรูประบบราชการและจัดตั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขึ้นใหม่ จึงมิได้มีการดำเนินการให้เกิดความต่อเนื่องและตราพระราชกฤษฎีกาปรับปรุงแนวเขตให้แล้วเสร็จ

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี พ.ศ. 2548 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็ยังคงยืนยันแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้มีหนังสือให้คำมั่นต่อศูนย์มรดกโลก องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เพื่อประกอบการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางธรรมชาติผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ว่า จะมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานอย่างแน่นอนโดยกันพื้นที่ส่วนที่เป็นชุมชนและป่าเสื่อมโทรมออกและผนวกพื้นที่ส่วนที่เป็นป่าสมบูรณ์เข้ามา โดยมีแนวเขตและเนื้อที่สอดคล้องกับเส้นแนวเขตปี พ.ศ. 2543 กรณีนี้จึงเห็นได้ว่า เส้นแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานปี พ.ศ. 2543 มิใช่เส้นที่เกิดขึ้นจากการขีดเขตแผนที่ในห้องปฏิบัติงานของส่วนกลาง แต่เป็นเส้นที่เกิดจากการตรวจสอบร่วมกันในพื้นที่จริง มีความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ มีขั้นตอนทางกฎหมายและคำสั่งของทางราชการรองรับ เพียงแต่ยังไม่เกิดผลใช้บังคับในทางกฎหมายอันเนื่องมาจากการขาดความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาลและการขาดความจริงจังในการแก้ไขปัญหา

ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมจากการกำหนดแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ ปี พ.ศ. 2524 จริง จึงได้มีคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการแก้ไขปรับปรุงแนวเขตให้ถูกต้องตรงตามสภาพความเป็นจริง โดยยึดถือแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี พ.ศ. 2543 ที่ผ่านการสำรวจรังวัดร่วมกันของทุกภาคส่วนแล้ว และตราพระราชกฤษฎีกาให้เกิดผลใช้บังคับในทางกฎหมาย จากนั้นเมื่อเกิดความชัดเจนของแนวเขตที่ดินของรัฐแล้ว

สำหรับพื้นที่ที่ถูกกันออกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ให้กรมป่าไม้ดำเนินการเพื่อยกเลิกเขตป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ จากนั้นส่งมอบพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้ ส.ป.ก. ดำเนินการจัดที่ดินให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัยทำกินตามกฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินของราษฎรบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลัก รับข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมความเห็นและข้อสังเกตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ให้มีความคืบหน้าและเกิดผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งรัดการดำเนินการตาม มาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติเร่งรัดการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

การดำเนินการของผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยึดถือหลักนิติธรรมและหลักความเสมอภาคเป็นที่ตั้ง กระทำการเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติโดยรวม ซึ่งการแก้ไขปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานมิได้เป็นสาเหตุโดยตรงที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้ สิ่งแวดล้อม หรือระบบนิเวศน์ในพื้นที่ดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากพื้นที่ที่ถูกเพิกถอนมิได้มีสภาพเป็นป่าไม้สมบูรณ์มาตั้งแต่แรก การแก้ไขปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน มีทั้งการเพิกถอนพื้นที่ที่มิได้มีสภาพป่า (เขตชุมชน ที่ดินเกษตรกรรม สถานที่ราชการ และป่าเสื่อมโทรม จำนวน 273,310.22 ไร่) และขยายเขตพื้นที่ที่มีสภาพป่าสมบูรณ์ (110,172.95 ไร่) ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติทับลาน 

ดังนั้น ในภาพรวมจึงสูญเสียพื้นที่ป่า (ที่มิได้มีสภาพเป็นป่า) จำนวน 163,137.27 ไร่ นอกจากนี้การแก้ไขปรับปรุงแนวเขตยังทำให้แนวเขตที่ดินของรัฐที่อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานเกิดความชัดเจน ไม่ทับซ้อนกัน เสริมสร้างประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อบริหารจัดการและดูแลรักษาพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติและป่าอนุรักษ์ รวมทั้งป้องกันปัญหาการทุจริตหรือประพฤติมิชอบโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากความไม่ชัดเจนของแนวเขต โดยที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถจัดสรรทรัพยากรบุคคลและงบประมาณอย่างเพียงพอและเหมาะสมในการดูแลรักษาพื้นที่ที่มีสภาพป่าไม้ตามความเป็นจริง และยังมีส่วนราชการในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และประชาชนในพื้นที่ พร้อมให้ความร่วมมือในการดำเนินการดังกล่าว

ส่วนการกล่าวอ้างถึงเรื่องการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบุคคลที่มิได้อยู่อาศัยทำกินมาแต่เดิมหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมายนั้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวได้อยู่อาศัยทำกินมาแต่เดิม หรือเข้ามาอยู่อาศัยทำกินโดยมีมูลเหตุจูงใจมาจากความเชื่อถือและไว้วางใจต่อนโยบาย โครงการ หรือการกระทำของรัฐในช่วงเวลาต่าง ๆ ทั้งนี้ บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ และการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐและสิ่งสาธารณูปโภค อันถือเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครอง อีกทั้งเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องให้การส่งเสริมและสนับสนุนภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย

โดยพื้นที่ที่ถูกกันออกทั้งหมดล้วนแต่ยังคงเป็นที่ดินของรัฐ (เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) มิใช่การเพิกถอนพื้นที่ป่าเพื่อให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแก่บุคคล การใช้ประโยชน์ในที่ดินของประชาชนยังคงอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กำหนด ซึ่งหากปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการซื้อขายเปลี่ยนมือหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ดูแลรักษาที่ดิน (ส.ป.ก.) ย่อมสามารถใช้มาตรการทางปกครองและทางอาญาในการดำเนินการตามกฎหมายกับกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้อยู่แล้ว

ประเด็นสุดท้าย การตราพระราชกฤษฎีกาปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานเป็นเรื่องของการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือคำสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน อันเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร มิได้เกี่ยวข้องกับคดีความต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล (อำนาจตุลาการ) แต่อย่างใด ซึ่งการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดย่อมเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อันเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องพิจารณาต่อไป

“ขอย้ำว่าคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินของราษฎรบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานด้วยการแก้ไขปรับปรุงแนวเขตให้ถูกต้องตรงตามสภาพความเป็นจริง ถือเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินในการขจัดหรือระงับความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นและบริบทเฉพาะของพื้นที่มากที่สุด โดยผ่านการพิจารณากลั่นกรองทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างครบถ้วนรอบด้าน มีการหารือถึงผลดี ผลเสีย ปัญหาและอุปสรรคของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคำนึงถึงข้อห่วงกังวลในด้านต่าง ๆ ด้วยความละเอียดรอบคอบ ก่อนที่จะมีข้อเสนอแนะ โดยมิใช่การเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลที่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งกลุ่มบุคคลใดหากแต่เป็นการทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติโดยรวม และดำเนินการโดยยึดถือหลักนิติธรรมและหลักความเสมอภาคเป็นที่ตั้ง” นายสมศักดิ์ กล่าว

ข่าวโดย วีระ รัตนอักษรกุล สำนักข่าว MC.news.com รายงาน