คณะกรรมการแก้ไขหนี้สินครูตามนโยบายของรัฐบาล ได้มีการประชุมกันที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยมี ดร.พจน์ เจริญสันเทียะเลขานุการกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาและแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู พร้อมด้วยนายทองวิริยะจารุ ประธานที่ปรึกษาสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด รองประธานอนุกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู สภาผู้แทนราษฎร, ดร.กิตติพงศ์ โด่งพิมาย  ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครราชสีมา เขต 1 เป็นผู้แทน  ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 1-7 และมัธยมศึกษา ,  นายบุญธรรม เดชบุญ ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด และนางสาวสุปรียา พิพัฒน์มโนมัย กรรมการธนาคารออมสิน ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงซึ่งเป็นสักขีพยานโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูตามโครงการ “โคราชโมเดล”นำร่องของประเทศ

ดร.พจน์ เจริญสันเทียะ เลขานุการกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาและแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีนโยบายให้จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูในระดับจังหวัดขึ้น ซึ่งในส่วนของจังหวัดนครราชสีมา มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครราชสีมา เขต1 เป็นสถานีแก้หนี้ครู และดำเนินงานร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาทุกเขตภายในจังหวัด ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ไปสู่ครูและบุคลากรทางการศึกษารวมทั้ง ให้นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ จัดประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้ครู ระดับจังหวัดและร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมาจำกัด ติดตามผลการรวมหนี้ กับจัดให้สมาชิกเข้าลงทะเบียนในระบบ ร่วมโครงการแก้หนี้สินครู เพื่อที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด และธนาคารออมสิน

โดยจะเข้าช่วยเหลือสมาชิกได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้รูปแบบที่ชื่อว่า “โคราชโมเดล” ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาและแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู สภาผู้แทนราษฎร ได้เห็นดีและนำรูปแบบใหม่นี้มาใช้ดำเนินการแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งประเทศ ซึ่งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด ได้ดำเนินการตามแนวทางนี้มาก่อนแล้ว จึงอยากให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด เป็นตัวหลัก และวันนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดีอีกครั้ง ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด และธนาคารออมสิน ได้จับมือช่วยกันประคับประคองช่วยเหลือข้าราชการครูที่มีภาระหนี้สินได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้ครูได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

นายทอง วิริยะจารุ ประธานที่ปรึกษาสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด / รองประธานอนุกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า วันนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ทั่วประเทศ มี 103 แห่ง มีครูเป็นสมาชิกกว่า 9 แสนคนรวมหนี้ประมาณ 8 แสน 7 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งในมูลหนี้เหล่านี้ แต่ละสหกรณ์จะมีสัญญาแตกต่างกันและจากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า มีครูมากถึง 80%ที่เป็นหนี้ ส่วนอีก 20 % ไม่มีหนี้ ทางสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด จึงใช้โคราชโมเดลเข้ามาช่วยขับเคลื่อนแก้ปัญหา และขอให้ธนาคารออมสินเข้ามาช่วยอีกแรง ด้วยการปล่อยอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อรวมหนี้ครสมาชิกแต่ละรายให้มาอยู่ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมาเพียงจุดเดียว จะได้แก้ไขปัญหาได้อย่างถาวร ซึ่งทางสหกรณ์ฯ ได้ทำระเบียบรองรับไว้หลายด้าน เพื่อให้ครูลูกหนี้มีเงินเหลือใช้ 30% ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ

นางสาวสุปรียา พิพัฒมโนมัย กรรมการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ทางธนาคารฯ ได้ดำเนินการร่วมกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมามา 2 ปีกว่าแล้ว พยายามปรับแก้ระเบียบของแต่ละหน่วยงาน ศึกษาระเบียบกฎกระทรวง เพื่อนำผลิตภัณฑ์ของธนาคารออมสินที่มีความเหมาะสมและมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ มาช่วยชุบชีวิตเพื่อนครูให้สามารถก้าวไปต่อได้ ซึ่งมีครูหลายรายที่ล้มละลายมีหนี้สินล้นพ้นตัว โครงการนี้ก็จะช่วยให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติและทำอาชีพเลี้ยงตัวได้ธนาคารออมสินพร้อมจะสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ เข้ามาช่วยแก้ปัญหาหนี้สินครู จึงอยากให้นำโคราช โมเดล ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ

ดร.กิตติพงศ์ โด่งพิมาย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครราชสีมา เขต 1ในฐานะตัวแทน ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครราชสีมา เขต 1-7 กล่าวว่า มีครูสมาชิกมาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาฯในรอบแรก ประมาณ 1,368 ราย ซึ่งสถานีแก้หนี้ครูระดับจังหวัด ได้นำรายชื่อครูเหล่านี้ ส่งต่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด จะได้ตรวจสอบคุณสมบัติ และสถานะหนี้ เพื่อร่วมกับธนาคารออมสิน พิจารณาต่อและดำเนินการตามแนวทางโคราช โมเดล

“โครงการนี้มีหลักการหลักๆ 4 อย่างคือ 1.รวมหนี้เป็นสัญญาเดียวและส่งเงินต้นลดลง2.สามารถส่งชำระหนี้ได้หลากรูปแบบ เพื่อให้มีขีดความสามารถส่งชำระหนี้ได้ตามสัญญา 3.มีเงินดำรงชีพเพียงพอ และ 4.เสียชีวิตหนี้หมด ซึ่งตอนนี้ยังมีข้าราชครูจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาระครูบำนาญ-ครูเกษียญหลายร้อยรายที่ยังไม่รับทราบข้อมูลโครงการนี้ ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ,สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด และธนาคารออมสิน จึงอยากเชิญชวนให้ครูที่มีภาระหนี้สิน ได้เข้ามาร่วมโครงการฯ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่โดยเร็ว” ดร.กิตติพงศ์ กล่าว

นายบุญธรรม เดชบุญ ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด กล่าวว่า ปัญหาหนี้สินครูเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานาน ทางสหกรณ์ฯ จะลงไปสอดส่องช่วยเหลือสมาชิกครูอย่างเต็มที่เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยปรับปรุงระเบียบและใช้กระบวนการของสหกรณ์ให้เกิดประโยชน์สูงสูดเพื่อจะเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับเพื่อนครูนอกจากนี้ ยังจัดสวัสดิการรองรับ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการของ “โคราช โมเดล” ที่ว่า “ชำระหนี้ได้ – มีเงินดำรงชีพ – เสียชีวิตหนี้หมด” .

 สำนักข่าว MC.news.com รายงาน